วันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ส่งเรียงความเรื่องอาชีพครู

เรียงความเรื่อง ฉันจะประสบความสำเร็จในอาชีพครูได้อย่างไร
การเป็นครูนั้น ไม่เพียงแต่จะต้องมีความรู้ทางวิชาการเพื่อจะสอนนักเรียนเท่านั้น แต่ครูยังจะต้องเป็นผู้ช่วยนักเรียนให้พัฒนาทั้งทางด้านสติปัญญา บุคลิกภาพ อารมณ์ และสังคมด้วยดังนั้น ครูต้องเป็นผู้ที่ให้ความอบอุ่นแก่นักเรียน เพื่อนักเรียนจะได้มีความเชื่อและไว้ใจครู พร้อมที่จะเข้าพบครูเวลาที่มีปัญหา นอกจากนี้ครูจะต้องเป็นต้นฉบับที่ดีแก่นักเรียน ถ้าหากจะถามนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถม จนถึงนิสิตนักศึกษาขั้นมหาวิทยาลัย ว่ามีใครบ้างในชีวิตของนักเรียนที่นักเรียนยึดถือเป็นต้นฉบับ นักเรียนส่วนมากจะมีครูอย่างน้อยหนึ่งคนยึดเป็นต้นฉบับหรือตัวแบบและนักเรียนจะยอมรับค่านิยมและอุดมการณ์ของครู เพื่อเป็นหลักของชีวิต อิทธิพลของครูที่นักเรียนยึดเป็นต้นฉบับจะติดตามไปตลอดชีวิต
มีผู้กล่าวว่า ครูเปรียบเสมือนศิลปินที่ปั้นรูป เพราะครูทุกคนมีส่วนในการพัฒนาบุคลิกภาพของนักเรียน แต่ผลงานของครูไม่เหมือนกับปฏิมากรที่พองานแต่ละชิ้นสำเร็จก็เห็นผลงาน อาจจะตั้งให้ชมได้ หรือถ้าไม่ชอบอาจจะแก้ไขเพิ่มเติมได้ ส่วนครูนั้นจะต้องรอจนนักเรียนกลับมาบอกครูว่าครูได้ช่วยเขาอย่างไร หรือมีอิทธิพลต่อชีวิตเขาอย่างไร และบางครั้งการรอก็เป็นการเสียเวลาเปล่าเพราะแม้ว่านักเรียนบางคนจะคิดถึงความดีของครู แต่ก็คิดอยู่ในใจไม่แสดงออก จึงทำให้คนทั่วไปรู้สึกว่าอาชีพครูเหมือนเรือจ้างที่มีหน้าที่ส่งคนข้ามฟากเท่านั้น ซึ่งเป็นเครื่องชี้ถึงทัศนคติทางลบที่มีต่ออาชีพครูจึงมีส่วนทำให้คนบางคนตัดสินใจเลือกอาชีพครูเป็นอาชีพสุดท้าย
จะเห็นว่าการเป็นครูที่ดีนั้นจะต้องเป็นด้วยจิตวิญาณมีความเข้าใจหลักการสอนกระบวนการสอนตามหลักวิชาการแล้วยังไม่พอ ครูจะต้องรู้เกี่ยวกับจิตวิทยา เพราะครูทุกคนมีวิถีชีวิตอยู่กับคนแทบจะตลอดเวลาจึงจำเป็นจะต้องรู้ชีวิตจิตใจของมนุษย์ว่าเขาเหล่านั้นมีความต้องการอะไร ดังมีกล่าวว่าคนเป็นครูจะต้องรู้จิตวิทยาเพราะว่าจิตวิทยาช่วยครูได้ดังที่สุรางค์ โค้วตระกูล. 2544 : 4-5 [1] กล่าวไว้ดังต่อไปนี้
1. ช่วยครูให้รู้จักลักษณะนิสัย (Characteristics) ของนักเรียนที่ครูต้องสอนโดยทราบหลักพัฒนาการทั้งทางร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ สังคม และบุคลิกภาพเป็นส่วนรวม
2. ช่วยให้ครูมีความเข้าใจพัฒนาการทางบุคลิกภาพบางประการของนักเรียน เช่น อัตมโนทัศน์ (Self concept) ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร และเรียนรู้ถึงบทบาทของครูในการที่จะช่วยนักเรียนให้มี อัตมโนทัศน์ ที่ดีและถูกต้องได้อย่างไร
3. ช่วยครูให้มีความเข้าใจในความแตกต่างระหว่างบุคคล เพื่อจะได้ช่วยนักเรียนเป็นรายบุคคลให้พัฒนาตามศักยภาพของแต่ละบุคคล
4. ช่วยให้ครูรู้วิธีจัดสภาพแวดล้อมของห้องเรียนให้เหมาะสมแก่วัย และขั้นพัฒนาการของนักเรียน เพื่อจูงใจให้นักเรียนมีความสนใจและอยากจะเรียนรู้
5. ช่วยให้ครูทราบถึงตัวแปรต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของนักเรียน เช่น แรงจูงใจ อัตมโนทัศน์ และการตั้งความคาดหวังของครูที่มีต่อนักเรียน
6. ช่วยครูในการเตรียมการสอนวางแผนการเรียน เพื่อทำให้การสอนมีประสิทธิภาพสามารถช่วยให้นักเรียนทุกคนเรียนรู้ตามศักยภาพของแต่ละบุคคล โดยคำนึงหัวข้อต่อไปนี้
6.1 ช่วยครูเลือกวัตถุประสงค์ของบทเรียนโดยคำนึงถึงลักษณะนิสัยและความแตกต่างระหว่างบุคคลของนักเรียนที่จะต้องสอน และสามารถที่จะเขียนวัตถุประสงค์ให้นักเรียนเข้าใจว่าสิ่งที่ครูคาดหวังให้นักเรียนรู้มีอะไรบ้าง โดยถือว่าวัตถุประสงค์ของบทเรียนคือสิ่งที่จะช่วยให้นักเรียนทราบว่า เมื่อจบบทเรียนแล้วนักเรียนจะสามารถทำอะไรได้บ้าง
6.2 ช่วยครูในการเลือกหลักการสอนและวิธีสอนที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงลักษณะนิสัยของนักเรียนและวิชาที่สอน และกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน
6.3 ช่วยครูในการประเมินไม่เพียงแต่เฉพาะเวลาครูได้สอนจนจบบทเรียนเท่า นั้นแต่ใช้ประเมินความพร้อมของนักเรียนก่อนสอน ในระหว่างที่ทำการสอน เพื่อจะทราบว่านักเรียนมีความก้าวหน้าหรือมีปัญหาในการเรียนรู้อะไรบ้าง
7. ช่วยครูให้ทราบหลักการและทฤษฎีของการเรียนรู้ที่นักจิตวิทยา ได้พิสูจน์แล้วว่าได้ผลดี เช่น การเรียนรู้จากการสังเกตหรือการเลียนแบบ (Observational learning หรือ Modeling)
8. ช่วยครูให้ทราบถึงหลักการสอนและวิธีสอนที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งพฤติกรรมของครูที่มีการสอนอย่างมีประสิทธิภาพว่ามีอะไรบ้าง เช่น การใช้คำถาม การให้แรงเสริม และการทำตนเป็นต้นแบบ
9. ช่วยครูให้ทราบว่านักเรียนที่มีผลการเรียนดีไม่ได้เป็นเพราะ ระดับเชาวน์ปัญญาเพียงอย่างเดียว แต่มีองค์ประกอบอื่นๆ เช่น แรงจูงใจ (Motivation) ทัศนคติหรือ อัตมโนทัศน์ของนักเรียนและความคาดหวังของครูที่มีต่อตัวนักเรียน
10. ช่วยครูในการปกครองชั้นและการสร้างบรรยากาศของห้องเรียน ให้เอื้อต่อการเรียนรู้และเสริมสร้างบุคลิกภาพของนักเรียน ครูและนักเรียนมีความรัก และไว้วางใจซึ่งกันและกัน นักเรียน ต่างก็ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำให้ห้องเรียนเป็นสถานที่ที่ทุกคนมีความสุขและนักเรียนรักโรงเรียน อยากมาโรงเรียน
เนื่องจากการศึกษามีบทบาทสำคัญในการช่วยให้เยาวชนพัฒนาการทั้งทางด้านเชาวน์ปัญญา และทางบุคลิกภาพ เพื่อช่วยให้เยาวชนมีความสำเร็จในชีวิต ทุกประเทศจึงหาทางส่งเสริมการศึกษา ให้มีคุณภาพ มีมาตรฐานความเป็นเลิศ ความรู้เกี่ยวกับจิตวิทยาการศึกษาจึงมีสำคัญในการช่วยทั้งครูและนักการศึกษาผู้มีความรับผิดชอบในการปรับปรุงหลักสูตรและการเรียนการสอน

ลักษณะของครูที่ดีและมีประสิทธิภาพ ครูที่ดีและมีวิธีสอนอย่างมีประสิทธิภาพ หมายถึงครูที่มีการสอนที่รับรองได้ว่านักเรียนจะเกิดการเรียนรู้ นักจิตวิทยาการศึกษาหลายท่านได้ทำการวิจัยหรือหาตัวแปรที่ทำให้การสอนมีประสิทธิภาพ ศาสตราจารย์ จอห์น แคร์รอล (John Carroll, 1963) ได้เขียนบทความจิตวิทยาการศึกษาเกี่ยวกับรูปแบบการสอน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่มีอิทธิพลมากที่สุด บทความนี้ชื่อว่า “A model of School Learning” แคร์รอลได้อธิบายความหมายของครูที่มีประสิทธิภาพว่า เป็นครูที่สอนให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ ให้เวลาแก่นักเรียนแต่ละคนได้เรียนรู้โดยพิจารณาความแตกต่างของบุคคล และวิชาที่สอน บางคนต้องการเวลามากแต่บางคนต้องการเวลาน้อย ซึ่งขึ้นกับวิชาที่ครูสอน รวมทั้งจัดกิจกรรมและ ประสบการณ์เพื่อจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ แคร์รอล กล่าวต่อไปว่าการสอนที่มีประสิทธิภาพไม่ได้ขึ้นกับการสอนของครูเท่านั้น แต่ขึ้นกับตัวนักเรียนด้วย คุณลักษณะของนักเรียนมีส่วนให้นักเรียน เรียนรู้ ในอัตราความเร็วแตกต่างกันด้วยคือ
1. ความถนัด (Aptitude) หมายถึง ความสามารถของนักเรียนที่จะเรียนรู้ 2. ความสามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่ครูสอน (Ability to Understand Instruction) 3. ความเพียรพยายาม (Perseverance) นักเรียนใช้เวลาสำหรับการเรียนรู้ ซึ่งมักจะเนื่องมาจากการที่นักเรียนมีแรงจูงใจที่จะเรียนรู้ 4. การมีโอกาส ครูให้เวลานักเรียนในการเรียนรู้สิ่งที่ครูสอน โดยคิดถึงความสามารถและความถนัดของนักเรียน โดยสรุป ครูสามารถสอนอย่างมีประสิทธิภาพ หมายถึงการสอนของครูที่สามารถให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ตามความถนัดและความสามารถของทุกคน
โบรฟี่ (Brophy, 1992)[2] นักจิตวิทยาการศึกษาที่ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับการสอน-การเรียนรู้ก็ได้ทำการศึกษาเรื่องนี้และให้ความหมายของการเป็นครูที่ดี และมีประสิทธิภาพว่าเป็นครูที่สามารถสอนให้นักเรียนมีสัมฤทธิผลในการเรียนและสามารถนำความรู้ที่เรียนไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้
จากการวิจัยของนักจิตวิทยาการศึกษาที่เกี่ยวกับคุณลักษณะของครูที่ดีและมีประสิทธิภาพหลายท่าน ก็ได้ผลคล้ายคลึงกันและอาจสรุปได้ว่าคุณลักษณะสำคัญของครูที่ดีและมีประสิทธิภาพดังต่อไปนี้ (Ryans, 1964 ; Emmer, Evertson and Anderson, 1980, Good and Grows, 1979; Housner& Gniffy, 1983)
1. ต้องเป็นนักมนุษยนิยม (Humanist) คือเป็นผู้ที่ยอมรับนักเรียนอย่างจริงใจ ให้ความอบอุ่น มีความเข้าใจนักเรียน มีความยุติธรรม และมีคุณลักษณะของครูตามทัศนะของนักจิตวิทยา-มนุษยนิยม และเป็นกัลยาณมิตรของนักเรียน 2. เป็นผู้ที่มีความรู้ และมีความเข้าใจเกี่ยวกับจิตวิทยาการเรียนการสอนคือ ครูต้องเข้าใจธรรมชาติของกระบวนการเรียนรู้และสามารถที่จะให้วิธีสอนที่เหมาะสม และจูงใจให้นักเรียนอยากเรียนรู้ ครูจะต้องใช้วิธีการประเมินผลที่สามารถบอกได้ว่าการเรียนรู้ได้เกิดขึ้นจริง 3. เป็นผู้ที่รู้จักนักเรียน ครูไม่เพียงแต่เป็นผู้สอนนักเรียนทางวิชาการเท่านั้น แต่เป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการทางบุคลิกภาพของนักเรียนด้วย ดังนั้นครูต้องมีความรู้เกี่ยวกับจิตวิทยาพัฒนาการเพื่อจะช่วยนักเรียนให้มีพัฒนาการทั้งด้านสติปัญญาและด้านบุคลิกภาพด้วย โดยทำตนเป็นผู้ส่งเสริมการพัฒนาบุคลิกภาพของนักเรียนให้ไปในทางบวก เพื่อนักเรียนจะได้เจริญเติบโตเป็นบุคคล ที่มีชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีคุณค่า มีความภูมิใจในตัวเองและมีความสุข 4. เป็นผู้ที่มีคุณวุฒิทางวิชาการ โดยเฉพาะในวิชาต่างๆ ที่ตนจะต้องสอนสำหรับความรู้ด้านวิชาการนั้น เมื่อนิสิตนักศึกษาครูเรียนจบหลักสูตรแล้ว ก็อาจจะเชื่อได้ว่าได้รับการเตรียมตัวพร้อมที่จะเป็นผู้สอนได้ และนอกจากนี้ถ้านิสิตนักศึกษาเป็นผู้ที่พยายามขวนขวายหาความรู้อยู่เสมอไม่ว่าจะด้วยการอ่านค้นคว้าด้วยตนเอง หรือไปอบรมต่อในวิชาที่ตนสอนก็จะเป็นบุคคลที่มีคุณวุฒิทางวิชาการที่ทันสมัยเสมอ 5. เป็นผู้นำที่ดีและเป็นผู้ฟังที่ดี สามารถจะช่วยนักเรียนให้มีความเข้าใจซึ่งกันและกันในกรณีที่มีความขัดแย้งกัน ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน 6. มีทักษะในการจัดการห้องเรียนให้เอื้อการเรียนรู้ 7.เป็นผู้ที่นิยมในวิธีการวิทยาศาสตร์และเข้าใจกฎแห่งพฤติกรรมและเป็นนักวิทยาศาสตร์พฤติกรรม 8. จะต้องมีทักษะของชีวิต (Life Skills) คือเป็นผู้สามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้ดี และมีความสันพันธ์อันดีหรือต้องมีมนุษยสัมพันธ์ สามารถแก้ปัญหาและตัดสินใจได้ มีสุขภาพดีทั้งกายและใจจะต้องมีจุดมุ่งหมายของชีวิตและมีใจรักอาชีพที่เลือก
นอกจากคุณลักษณะทั่วไปดังกล่าว ยังมีลักษณะเฉพาะที่นักจิตวิทยา เอมเมอร์และคณะ (Emmer, Evertson and Anderson, 1980) ผู้ศึกษาความแตกต่างของครูที่มีการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ และครูที่ไม่มีประสิทธิภาพได้พบตัวแปรหรือเทคนิคที่ทำให้ครูมีประสิทธิภาพดังต่อไปนี้
1. อธิบายวัตถุประสงค์ของบทเรียน หน่วยเรียนที่ต้องการให้นักเรียนเรียนรู้อย่างแจ่มแจ้ง 2. ใช้อุปกรณ์วัสดุเกี่ยวกับการสอนหลายชนิด 3. เตรียมการสอนและเครื่องใช้ที่จะใช้ในการสอนอย่างพร้อม 4. ใช้หนังสือ ประสบการณ์ กิจกรรมที่จะช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ 5. บอกนักเรียนถึงเหตุผลว่าทำไมบทเรียนที่ครูสอนจึงมีความสำคัญ และนักเรียนต้องตั้งใจเรียนให้เกิดการเรียนรู้ 6. รู้จักใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ทุกวินาที และปรับเนื้อหาให้เหมาะสมโดยคิดถึงระยะเวลา ความใส่ใจของนักเรียน 7. ครูควรจะสอนนักเรียนให้มีอัตราความสำเร็จในการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ 8. เนื้อหาที่สอนเป็นที่สนใจแก่นักเรียน 9. การตั้งความคาดหวังของครู และการตั้งเกณฑ์ของความสำเร็จของนักเรียนจะต้องเหมาะสม ไม่สูงหรือต่ำจนเกินไป
นอกจากตัวแปร 9 อย่าง ดังกล่าว เอมเมอร์ และคณะยังพบว่า ครูจะต้องมีความสามารถในการสื่อสาร เพราะการที่ครูจะสอนหรือพูดให้นักเรียนเข้าใจได้ ครูจะต้องมีทักษะในการพูด สามารถจะสื่อสารให้นักเรียนเข้าใจในสิ่งที่ครูต้องการให้นักเรียนเรียนรู้ได้ และสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือครูจะต้องรู้จักหลักการให้ข้อมูลป้อนกลับ (Feed back) เช่น นอกจากจะบอกนักเรียนว่าทำ “ถูก” หรือ “ผิด” ครูจะต้องให้คำชมเวลานักเรียนทำถูกและไม่ติว่านักเรียนเป็นส่วนตัวเวลาผิด เช่น “เธอนี่โง่จริง” แต่บอกนักเรียนให้ทราบว่าทำไมถึงผิด
เอกสารอ้างอิงสุรางค์ โค้วตระกูล, จิตวิทยาการศึกษา,(กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2544.เขียน วันทนียตระกูล. จิตวิทยาการศึกษา. ส.ทรัพย์การพิมพ์:เชียงใหม่, 2548.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น